การทำงานในทางช่างแขนงต่าง ๆ สิ่งที่มีความสำคัญ เป็นอันดับแรกเลย หรือจะถือว่าเป็นหัวใจของช่างก็ว่าได้ สิ่งนั้นก็คือ เครื่องมือนั่นเอง เพราะต่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสามารถดีแค่ไหน แต่ถ้า ไม่มีเครื่องมือที่ดีแล้ว ก็ไม่สามารถทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้เลย
เครื่องมือช่างสำหรับการปฏิบัติงานนั้นถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากในลักษณะงานต่าง ๆ ที่จะต้องลงมือทำ เครื่องมือช่างสามารถหาซื้อได้ง่ายจากแหล่งขายวัสดุอุปกรณ์ช่าง ร้านขายอุปกรณ์ช่าง หรือบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ช่างทั่วไปตามท้องตลาด เครื่องมือช่างที่มีจำหน่ายอยู่โดยทั่วไปจะแบ่งประเภทออกไปตามลักษณะงาน ได้แก่ เครื่องมือช่างสำหรับช่างไม้ เครื่องมือช่างสำหรับงานตกแต่ง เครื่องมือช่างสำหรับงานจัดสวน เครื่องมือช่างสำหรับงานไฟฟ้า เครื่องมือช่างสำหรับงานอาคาร เครื่องมือช่างสำหรับงานท่อ เป็นต้น ทั้งนี้เครื่องมือช่างยังสามารถแยกย่อยได้อีกตามการซ่อมแซมงาน การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ การสร้างสรรค์ชิ้นงาน โดยผู้ที่ต้องการใช้งานเครื่องมือช่างควรศึกษาคู่มือการใช้งานให้ละเอียด เพื่อสามารถนำเครื่องมือช่างเหล่านั้นไปใช้งานภายในบ้าน อาคาร หรือที่อยู่อาศัยได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดการผิดพลาด สามารถใช้งานเครื่องมือช่างได้ตามความต้องการของตนเองที่ก่อให้เกิดความสวยงามเรียบร้อย และยังปลอดภัยต่อทั้งตัวผู้ใช้เองและต่อผู้อื่น
![]() |
http://www.uppic.org/image-F604_4F9A3619.jpg |
ความหมายของเครื่องมือและเครื่องมือกล
1. เครื่องมือ หรือ Hand Tools หมายถึง อุปกรณ์ในการทำงานที่เราใช้งานโดยอาศัยกำลังจากมือและแขน โดยทั่วไปจะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กพอเหมาะพอเจาะกับมือของเรา และมีน้ำหนักเบา เพื่อที่จะได้ใช้งานได้อย่างสะดวกและ เหมาะมือนั่นเอง เช่น สกัด ตะไบ ไขควง ค้อน เป็นต้น 2. เครื่องมือกล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ เครื่องมือกล หรือ Machine Tools และเครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้ หรือ Portable Power Tools ซึ่งเครื่องมือกลทั้งสองชนิด มีความแตกต่างกันดังนี้ 2.1 เครื่องมือกล หรือ Machine Tools หมายถึง เครื่องมือที่ทำงานโดยอาศัยพลังงานจากไฟฟ้า เครื่องยนต์ หรือต้นกำลังอื่น ๆ ปกติจะมีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยมือ เช่น เครื่องกลึง สว่านแบบแท่น เลื่อยวงเดือน เป็นต้น 2.2 เครื่องมือกลชนิดเคลื่อนย้ายได้ หรือ Portable Power Tools หมายถึง เครื่องมือกลขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ไม่ได้ยึดติดแน่นอยู่กับที่ เช่น สว่านมือไฟฟ้า เลื่อยมือไฟฟ้า เครื่องเชื่อมไฟฟ้า เครื่องเชื่อมแก๊ส เป็นต้น เนื่องจากเครื่องมือและเครื่องมือกลมีหลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีรายละเอียดความปลอดภัยที่แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะหลักเกณฑ์ความปลอดภัยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น
ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องมือกล
- เลือกใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลให้ถูกกับงานที่ทำ - เลือกใช้เครื่องมือและเครื่องมือกลที่มีสภาพสมบูรณ์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย (Machine Guarding) ที่เหมาะสม และใช้งานได้ดีตลอดเวลา - มีการใช้งานเครื่องมือและเครื่องมือกลด้วยวิธีที่ถูกต้อง - สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้งที่ใช้งาน - ห้ามทำงานกับเครื่องมือหรือเครื่องมือกลที่ไม่ได้รับการมอบหมาย - หากต้องทำงานกับเครื่องมือกลที่มีส่วนที่หมุนได้ ห้ามสวมถุงมือ เสื้อผ้าที่รุงรัง หรือเครื่องประดับเด็ดขาด - ขณะควบคุมเครื่องมือกล เมื่อปิดสวิตช์แล้ว ไม่ควรจะเดินจากไปเลยในทันที ควรรอจนกว่าเครื่องจะปิดสนิทเสียก่อน เพราะอาจมีคนอื่น ๆ เดินเข้ามา โดยไม่รู้ว่าเครื่องมือกลยังเคลื่อนที่อยู่ และอาจเกิดอันตรายได้ - ห้ามปรับแต่งชิ้นงาน หรือวัดชิ้นงานขณะที่ยังเคลื่อนไหว - อย่าพยายามหยุดเครื่องมือกลด้วยมือหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย - อย่าชะโงกหรือยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเข้าไปใกล้ส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องมือกลและชิ้นงาน - การทำความสะอาดเศษเหล็กที่ค้างบนชิ้นงานที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องมือกล ควรใช้แปรงหรือเครื่องดูด หรือเครื่องมือพิเศษเฉพาะงานเท่านั้น - ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ลมเป่าในการทำความสะอาดชิ้นงานจริง ๆ ต้องจำกัดความดันลมไม่ให้เกิน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และผู้ปฏิบัติงานต้องสวมแว่นตานิรภัยทุกครั้ง - ไม่ควรบ้วนน้ำลายหรือทิ้งขยะลงในถังน้ำยาระบายความร้อน เพราะจะทำให้คุณภาพของน้ำยาเสื่อม และอาจเป็นการแพร่เชื้อโรคได้ - ห้ามผู้ปฏิบัติงานใช้ลมเป่าทำความสะอาดเสื้อผ้า ผม และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะเศษโลหะอาจกระเด็นเข้าตาหรือหูและผิวหนังได้ - ไม่ประมาท และปฏิบัติงานอย่างมีสติเสมอ - จัดเก็บและบำรุงรักษาเครื่องมือและเครื่องมือกลอย่างถูกต้อง ตามกติกาหรือวิธีการที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ความปลอดภัยเกี่ยวกับเครื่องมือไฟฟ้า - ผู้ที่มีคุณวุฒิเหมาะสม และได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าได้ - ต้องตรวจสอบเครื่องมือ สายไฟ การประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อหาร่องรอยชำรุดเสียหายก่อนใช้งานทุกครั้ง - ปิดสวิตช์เครื่องมือไฟฟ้าทุกครั้งก่อนที่จะเสียบปลั๊กสายไฟ ห้ามเปิด-ปิดเครื่องมือไฟฟ้าโดยวิธีเสียบปลั๊กเข้าหรือดึงปลั๊กออก - จับดึงเต้าเสียบ ไม่ดึงที่สายไฟฟ้า ห้ามดึงเต้าเสียบ โดยวิธีดึงหรือกระตุกที่สายไฟฟ้าเพราะการดึงที่สายไฟฟ้าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ - ปิดสวิตช์ และถอดปลั๊กไฟออกก่อนปรับเครื่องมือทุกครั้ง - หากต้องทำงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีส่วนที่หมุนได้ ห้ามสวมถุงมือ เสื้อผ้าที่รุงรัง หรือเครื่องประดับเด็ดขาด - พึงสังวรไว้ว่า สายไฟฟ้าทุกเส้นมีกระแสไฟฟ้าและเป็นอันตราย ระวังอย่าให้มีสิ่งใดไปแตะโดนสายไฟฟ้า - อย่าพาดหรือปล่อยสายไฟฟ้าเกะกะช่องทางเดิน เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม - อย่าถือเครื่องมือโดยหิ้วที่สายไฟฟ้า - อย่ามัดสายไฟฟ้าเป็นปม เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้ ให้ขดสายไฟฟ้าหรือใช้เต้าเสียบชนิดกดล็อก - ต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมและแห้ง รวมทั้งใช้ถุงมือสำหรับงานไฟฟ้าเมื่อทำการตัดต่อวงจร - ห้ามใช้เครื่องมือไฟฟ้าในสถานที่เปียก ชื้นแฉะ นอกจากอุปกรณ์นั้น ๆ จะต่อเข้ากับเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วอัตโนมัติ - อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดที่มีการป้องกันการระเบิด จะเปิดได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติงานมีความรู้เพียงพอเท่านั้น นอกจากนี้อุปกรณ์นั้น ๆ จะต้องอยู่ในสภาพที่ได้ตัดไฟฟ้าออกเรียบร้อยแล้ว และถ้าจำเป็นที่จะต้องเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทนี้ในขณะที่อยู่ในสภาพที่มีไฟฟ้า จะต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยโดยมีการขออนุญาตทำงานที่ก่อให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ - อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ต้องต่อสายดิน - เปลี่ยนเต้าเสียบจากชนิดถอดได้ชั่วคราว เป็นเต้าเสียบชนิดหล่อถาวร ซึ่งจะป้องกันการลัดวงจรได้ - อย่าใช้สายไฟฟ้าที่ทนกระแสได้ต่ำหรือประเภทที่ใช้งานหนักไม่ได้ - หลีกเลี่ยงการใช้เต้าเสียบร่วมกันมากเกินไป - ห้ามใช้เต้าเสียบหลาย ๆ อันในเต้ารับอันเดียวกัน - ห้ามนำไฟฉาย ประเภทที่ไม่ได้รับอนุญาต เข้ามาใช้ในเขตอันตรายที่มีสารไวไฟ - ห้ามใช้เครื่องมือไฟฟ้าในบริเวณที่เก็บแก๊ส หรือสารระเหยที่สามารถระเบิดได้ - ห้ามใช้สารเคมีที่ไวไฟหรือเป็นพิษ มาทำความสะอาดเครื่องมือไฟฟ้า - ให้ใช้หมวกนิรภัยชนิด A หรือ B เท่านั้น หากทำงานกับไฟฟ้าแรงสูงให้ใช้หมวกนิรภัยชนิด B เท่านั้น - หัวหน้างานมีหน้าที่ต้องควบคุมให้พนักงานปฏิบัติตามกฎดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เครื่องมือไฟฟ้าคือสิ่งจำเป็นสำหรับช่างมืออาชีพ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ใช้ และช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือไฟฟ้าต้องทำอย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ อุบัติเหตุมักเกิดจากความไม่ใส่ใจ ความเบื่อหน่าย และความประมาทเลินเล่อ หากคำนึงถึงเคล็ดลับเพื่อความปลอดภัย 10 ข้อต่อไปนี้อยู่ตลอดเวลา คุณจะสามารถทำงานกับเครื่องมือไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย (สุขภาพและความปลอดภัย. 2556 : http://th.bosch-pt.com/th/th/professional/news-extras/health-safety/health-safety.html )
1. การปกป้องดวงตา : แว่นตานิรภัยซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยพื้นฐานที่สุดจะช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่น เศษผง ขี้เลื่อย และวัตถุอื่นๆ เข้าสู่ดวงตาได้
2. การปกป้องหู : ควรใช้ปลั๊กอุดหูขณะที่ใช้เครื่องมือไฟฟ้า โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมแบบปิด ทั้งนี้เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อแก้วหู
3. รู้จักเครื่องมือที่เหมาะกับงาน : เมื่อทราบว่าควรใช้เครื่องมือชนิดใดที่เหมาะกับงาน จะสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต่อผู้ใช้หรือความเสียหายต่อวัสดุได้ อ่านคู่มือการใช้งานที่มาพร้อมอุปกรณ์อย่างละเอียดเสมอ และทำความคุ้นเคยกับคำเตือนด้านความปลอดภัยที่แนะนำ
4. การใช้เครื่องมือไฟฟ้าอย่างถูกต้อง : ไม่ควรถือเครื่องมือโดยจับที่สายไฟเด็ดขาด และควรถอดปลั๊กเมื่อเลิกใช้ รวมทั้งระวังอย่าให้นิ้วมืออยู่ใกล้ปุ่มเปิด/ปิดขณะที่ถือเครื่องมือที่เสียบปลั๊กอยู่
5. สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม : ควรมัดผมหากผมยาว และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รุ่มร่าม เสื้อผ้าควรปกปิดทั่วทั้งร่างกาย และควรสวมถุงมือหนาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการโดนของมีคมหรือเศษแตกหัก ควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันไม่ให้หายใจเอาละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายของวัสดุที่ทำงานอยู่เข้าไป และรองเท้าบู๊ตนิรภัยและหมวกนิรภัยสามารถป้องกันการบาดเจ็บที่เท้าและศีรษะได้
6. การตรวจสอบเครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ : ไม่ควรใช้เครื่องมือไฟฟ้าในสภาวะเปียกชื้น และควรตรวจสอบเครื่องมืออย่างสม่ำเสมอเพื่อหาลวดตัวนำที่โผล่ออกมาจากสายไฟ ปลั๊กที่ชำรุด และขาปลั๊กที่หลวม ควรเปลี่ยนสายไฟที่ชำรุดทุกครั้ง และตรวจสอบซ่อมแซมเครื่องมือที่ชำรุดหรือเครื่องมือที่ส่งเสียงหรือให้ความรู้สึกต่างจากปกติขณะใช้งาน
7. พื้นที่ทำงานที่สะอาด : ฝุ่นละอองที่สะสมสามารถติดไฟได้หากสัมผัสกับประกายไฟ และควรปิดฝาของเหลวไวไฟให้แน่นและเก็บให้ห่างจากพื้นที่ทำงาน พื้นที่ทำงานที่เป็นระเบียบจะช่วยให้ใช้งานเครื่องมือไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น และสามารถช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้
8. การป้องกันล่วงหน้าพิเศษ : ใช้แคลมป์แบบปลดเร็วเมื่อใช้แท่นเลื่อยปรับองศา และใช้ไม้ดันส่งเมื่อใช้โต๊ะเลื่อย ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อใช้ปืนยิงตะปูหรือเครื่องขัดกระดาษทรายระบบสายพาน
9. การจัดเก็บอย่างถูกต้อง: ควรจัดเก็บเครื่องมือไฟฟ้าเข้าที่หลังการใช้ทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีคุณสมบัติมาใช้งานเครื่องมือดังกล่าว
10. แสงสว่าง: การให้แสงสว่างที่เหมาะสมขณะทำงานกับเครื่องมือไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อทำงานในห้องใต้ดินหรือโรงรถที่อาจมีแสงสว่างไม่เพียงพอ
การใช้และการบำรุงรักษาเครื่องมือทั่วไป
1. รู้จักและใช้เครื่องมือให้ถูกประเภท
2. อย่าใช้เครื่องมือโดยยังไม่ได้ผ่านการเรียนรู้
3. ตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องมือก่อนการ ใช้งานถ้าพบความเสียหายให้รีบซ่อมแซม
4. ทำความสะอาดหลังใช้งานเสมอ
5. เก็บรักษาคมของเครื่องมืออย่างดี
6. อย่าทดสอบความคมของเครื่องมือด้วยนิ้วมือควรทดสอบด้วยเศษโลหะแทน
7. เลือกขนาดของเครื่องมือให้เหมาะสมกับชิ้นงาน
8. เมื่อต้องทำงานบนที่สูงหรือบนกระไดให้แน่ใจว่ากระไดมีความแน่นหนามั่นคงเพียงพอและเครื่องมือจะไม่ตกมาถูกคนอื่นได้
9. เก็บเครื่องมืออย่างถูกวิธี ไม่นำของมีคมใส่กระเป๋าตามร่างกาย
10. เมื่อถือเครื่องมือมีคม ควรให้คมชี้ลงพื้นเสมอหรือหุ้มคมอย่างดี
11. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หมวกนิรภัยแว่นตากันแสงหรือสะเก็ด, ถุงมือ, ปลอกแขน ที่จำเป็นเสมอ
ที่มา http://www.vcharkarn.com/blog/116163/94467
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น